ผู้ที่มีภาวะอัลไซเมอร์/สมองเสื่อม
Alzheimer’s Disease
ผู้ที่มีภาวะอัลไซเมอร์/สมองเสื่อม
โรคอัลไซเมอร์มักเกิดในผู้สูงอายุ และพบมากขึ้นตามอายุที่สูงขึ้น ซึ่งส่งผลต่อความจำ ความคิด และพฤติกรรมต่างๆ อาการของโรคจะรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ทำให้ผู้ที่เป็นโรคนี้จะค่อยๆลืมอดีตของตนเอง และลืมแม้กระทั่งกิจกรรมที่ทำในชีวิตประจำวัน หรืออาจจะถึงกับลืมชื่อคนในครอบครัว สาเหตุที่แท้จริงของโรคอัลไซเมอร์นั้นยังไม่ทราบแน่ชัด ยังคงเป็นประเด็นที่ถกเถียงกันอยู่ในปัจจุบัน
สาเหตุ
โรคอัลไซเมอร์เป็นหนึ่งในโรคที่เกิดจากความเสื่อมถอยของการทำงานหรือโครงสร้างของเนื้อเยื่อของสมองซึ่งมักพบในผู้สูงอายุ โดยไม่ใช่ความเสื่อมตามธรรมชาติเพราะผู้สูงอายุไม่จำเป็นต้องเป็นอัลไซเมอร์ทุกคน ซึ่งโรคอัลไซเมอร์มักส่งผลกระทบต่อสมองเป็นบริเวณกว้าง สาเหตุเริ่มต้นมาจากการรบกวนการผ่านเข้าเซลล์ของประจุไฟฟ้า และการทำงานของสารสื่อประสาท (Neurotransmitters) ทำให้การสื่อสารระหว่างเซลล์เกิดการหยุดชะงัก ส่งผลต่อหน้าที่การทำงานของสมองส่วนต่างๆ
หากส่องกล้องดูเซลล์ภายใต้กล้องจุลทรรศน์เราจะเห็นว่าเนื้อเยื่อสมองของคนที่เป็นโรคอัลไซเมอร์จะมีเซลล์ประสาท (Nerve Cell) และจุดประสานประสาท (Synapses) น้อยกว่าคนปกติ นอกจากนี้ยังพบกลุ่มก้อนโปรตีนที่เรียกว่า Plaque อยู่ระหว่างเซลล์สมอง และพบกลุ่มของเซลล์ประสาทที่ตายแล้วหรือกำลังจะตายพันกันยุ่งเหยิง การพันกันของเซลล์ประสาทเกิดจากการบิดพันกันของเส้นใยโปรตีน ซึ่งทั้งสองสิ่งนี้คือสาเหตุหลักที่ทำให้เนื่อเยื่อสูญเสียการทำงานและการตายของเซลล์ในสมองของผู้ป่วย เมื่อใดก็ตามที่เกิดการพันกันของเส้นโปรตีน ระบบการทำงานของสมองจะผิดปกติและล้มเหลว ทำให้ไม่สามารถส่งสารอาหารและสิ่งต่างๆเข้าสู่เซลล์ได้ ส่งผลให้เซลล์ตายในที่สุด ก้อน Plaque ที่เกิดขึ้นส่วนมากจะเกิดขึ้นจากโปรตีน Beta-amyloid ซึ่งเป็นตัวกีดขวางสัญญาณการส่งกระแสประสาทจากเซลล์หนึ่งไปยังอีกเซลล์หนึ่งบริเวณจุดประสานประสาท (Synapses)
ในระยะการเกิดโรค ก้อนโปรตีน (Plaque) และปมที่พันกันของเซลล์ประสาทเหล่านี้จะเริ่มแพร่กระจายในสมองส่วน Cortex ซึ่งเกี่ยวข้องกับหน่วยความจำ การวางแผน การคิดและการเรียนรู้ ก่อนที่จะลุกลามไปถึงส่วนที่ควบคุมการพูดและการทำความเข้าใจ ในผู้ที่มีอาการรุนแรง สมองส่วน Cortex จะถูกทำลายและเกิดการตายของเซลล์เป็นบริเวณกว้าง ส่งผลให้สมองฝ่อและลีบไป
อาการ
อาการแรกเริ่มที่สำคัญของผู้ป่วยอัลไซเมอร์คือการสูญเสียความจำระยะสั้น ซึ่งเป็นอาการที่ใกล้เคียงกับภาวะความจำเสื่อมตามธรรมชาติในผู้สูงอายุ แต่เมื่อเวลาผ่านไปผู้ป่วยจะมีอาการทางพฤติกรรมหรือทางจิตเวชร่วมด้วย ซึ่งอาการทางพฤติกรรมดังกล่าวจะทำให้การดูแลผู้ป่วยเป็นไปอย่างยากลำบากมากขึ้น โดยเฉพาะรายที่มีอาการก้าวร้าว (โรงพยาบาลบำรุงราช, 2561: ออนไลน์) โดย Dr. Barry Reisberg แบ่งการดำเนินอาการของโรคอัลไซเมอร์ไว้เป็น 7 ขั้น ดังนี้
ก่อนการวินิจฉัย: ไม่มีภาวะสมองเสื่อม ในสามขั้นแรกบุคคลมักจะยังไม่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคสมองเสื่อม เนื่องจากการที่เกิดขึ้นมักสัมพันธ์กับอายุของผู้ป่วย และผู้ดูแลก็ยังไม่ได้สังเกตเห็นถึงอาการสมองเสื่อม
ขั้นแรก: ไม่มีอาการ ในระยะนี้ผู้ป่วยมักจะไม่มีอาการความจำเสื่อมหรือสมองเสื่อม มักตรวจไม่พบอาการของโรคอัลไซเมอร์
ขั้นที่สอง: ภาวะะสมองเสื่อมเล็กน้อยมาก ในระยะนี้ผู้ป่วยจะเริ่มมีอาการหลงลืมเล็กน้อยที่อาจเกี่ยวข้องกับความชราเช่น การลืมกุญแจรถหรือกระเป๋าเงิน ซึ่งตัวผู้ป่วยหรือคนในครอบครัวก็มักไม่สังเกตเห็น
ขั้นที่สาม: ภาวะะสมองเสื่อมเล็กน้อย ในระยะนี้ผู้ป่วยจะเริ่มมีอาการหลงลืมที่พิ่มมากขึ้นจากระยะที่สอง จะส่งผลต่อการจดจ่อ หรือสมาธิทำให้เกิดปัญหาในด้านการทำงาน เนื่องจากประสิทธิภาพในการทำงานลดลง หากผู้ป่วยไม่ได้ทำงานนอกบ้านก็จะสบปัญหาเกี่ยวกับการทำงานบ้าน เช่น การลืมจ่ายบิลต่างๆ การลืมทำความสะอาด เป็นต้น ซึ่งคนในครอบครัวอาจรับรู้อาการหลงลืมดังกล่าวของผู้ป่วยได้ ระยะเวลาการดำเนินของโรคในขั้นนี้เฉลี่ยอยู่ที่ 7 ปีก่อนที่จะเริ่มมีภาวะสมองเสื่อม
ภาวะสมองเสื่อมระยะแรกเริ่ม: ในสามขั้นตอนแรกของการดำเนินโรคจะไม่ถือว่าเป็นภาวะสมองเสื่อม อย่างไรก็ตามการเปลี่ยนแปลงในขั้นที่สี่ถือว่าเป็นภาวะสมองเสื่องแรกเริ่ม ซึ่งระยะแรกของภาวะสมอง (early-stage dementia)เสื่อมแตกต่างจากช่วงต้นที่เริ่มมีอาการของภาวะสมองเสื่อม (early-onset dementia) หรือช่วงต้นที่เริ่มมีอาการของโรคอัลไซเมอร์ ซึ่งหมายถึงจะมีอาการทางคลินิกก่อนอายุ 65 ปี
ขั้นที่สี่: ภาวะสมองเสื่อมปานกลาง ในขั้นนี้ถูกใช้อธิบายทางคลินิกว่าเป็นภาวะสมองเสื่อมในระยะแรก ผู้ป่วยจะมีอาการหลงลืมเพิ่มมากขึ้น มักจะหลงลืมเหตุการณ์ที่เพิ่งเกิดขึ้น และมีความยากลำบากในการแก้ปัญหา อาจมีความยากลำบากหากต้องเดินทางไปในที่ที่ไม่คุ้นเคย มีปัญหาในการทำงานที่ซับซ้อน การจัดระเบียบ และการแสดงความคิดเห็น ผู้ป่วยในระยะนี้อาจปฏิเสธอาการหลงลืมและอาการอื่นๆ ที่เกิดขึ้นกับตนเอง เริ่มแยกตัวออกจากสังคมและครอบครัว ในระยะนี้ผู้ตรวจรักษาสามารถสังเกตเห็นถึงอาการได้อย่างชัดเจนมากยิ่งขึ้น ซึ่งระยะการดำเนินโรคของขั้นนี้เฉลี่ยอยู่ที่ 2 ปี
ภาวะสมองเสื่อมระดับกลาง: ขั้นที่ห้าเป็นจุดเริ่มต้นของภาวะสมองเสื่อมที่ยังคงดำเนินต่อไปจนถึงขั้นที่หก
ขั้นที่ห้า: ภาวะสมองเสื่อมรุนแรงปานกลาง อาการทางสมองเริ่มแสดงให้เห็นอย่างเด่นชัดตั้งแต่ขั้นที่ห้าดำเนินมาเรื่อยๆ จนถึงขึ้นที่หก ซึ่งผู้ป่วยในระยะนี้มีปัญหาเกี่ยวกับการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น การอาบน้ำ การรับประทานอาหาร การแต่งตัว ใส่เสื้อผ้า หรือแม้การลืมข้อมูลส่วนตัวที่สำคัญซึ่งส่งผลกระทบต่อชีวิตอย่างยิ่ง เช่น เบอร์โทรศัพท์ ที่อยู่บ้าน ผู้ป่วยอาจไม่สามารถบอกได้ว่าตนเองอาศัยอยู่ที่ใด เป็นต้น ระยะเวลาการดำเนินโรคของขั้นนี้อยู่ที่ประมาณหนึ่งปีครึ่ง
ขั้นที่หก: ภาวะสมองเสื่อมอย่างรุนแรง เป็นช่วงเวลาที่ผู้ป่วยต้องการความช่วยเหลืออย่างมากแบบวันต่อวัน พวกเขาอาจมีความทรงจำเพียงเล็กน้อยเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เพิ่งเกิดขึ้นได้ไม่นาน ลืมชื่อสิ่งของ เพื่อนสนิท หรือคนในครอบครัว ผู้ป่วยหลายรายในขั้นนี้จำได้เพียงความทรงจำในอดีต มีปัญหาในด้านการทำงาน และทักษะด้านการคิด เช่น การนับเลขถอยหลังจาก 10 เป็นต้น นอกจากนี้ผู้ป่วยในระยะนี้อาจเริ่มมีอาการกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ ความสามารถในการพูดลดน้อยลง ในระยะนี้มีการเปลี่ยนแปลงทางด้านบุคลิกภาพอย่างมากจนสามารถสังเกตได้ชัด ระยะเวลาในการดำเนินโรคของขั้นนี้เฉลี่ยประมาณสองปีครึ่ง
ภาวะสมองเสื่อมขั้นสุดท้าย: ในขั้นที่เจ็ดและขั้นสุดท้าย เรียกว่า ภาวะสมองเสื่อมตอนปลาย
ขั้นที่เจ็ด: ภาวะสมองเสื่อมอย่างรุนแรงมาก เป็นขั้นสุดท้ายของภาวะสมองเสื่อมที่จะพัฒนาไปเป็นโรคอัลไซเมอร์ ในขั้นนี้ผู้ป่วยส่วนมากมีปัญหาด้านการพูดและการสื่อสาร พวกเขาต้องการความช่วยเหลือในกิจกรรมประจำวันตลอดเวลา รวมถึงการเข้าห้องน้ำ การกิน การใส่เสื้อผ้า การอาบน้ำ และกิจวัตรอื่นๆ ตลอดเวลา เพราะผู้ป่วยในขั้นที่เจ็ดส่วนมากสูญเสียความสามารถทักษะต่างๆ พวกเขาอาจไม่สามารถด้านการเดิน หรือจำเป็นอย่างมากที่จะต้องได้รับความช่วยเหลือด้านการลุกจากเตียง ซึ่งอาการจะดำเนินไปเฉลี่ยประมาณสองปีครึ่ง (McIvor William, 2020: ออนไลน์)
โรคอัลไซเมอร์ป็นโรคที่อาการจะค่อยๆ แย่ลงในช่วง 4-20 ปี โดยเฉลี่ยแล้วคนส่วนใหญ่มีชีวิตอยู่ระหว่าง 4-8 ปี หลังจากการวินิจฉัย ซึ่งจะแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล อาการของผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์มีอาการหลงลืมในสิ่งต่าง ๆ จนทำให้มีปัญหาเกี่ยวข้องกับการดำเนินชีวิต หรือการใข้ขีวิตประจำวัน เช่น
1. ด้านการกิน ผู้ป่วยจำไม่ได้ว่ากินอาหารอะไรไปแล้ว ไม่รู้จักวิธีใช้ช้อนส้อม หรือแม้กระทั่งมีปัญหาในการกลืน การเคี้ยวอาหาร
2. การแต่งตัว ผู้ป่วยไม่รู้ว่าเสื้อผ้ามีเอาไว้ทำอะไร ไม่ทราบวิธีการใส่ จำไม่ได้ว่าเก็บเสื้อผ้าไว้ที่ไหน หรือไม่ทราบไม่จะต้องใส่อะไรก่อนหลัง
3. การอาบน้ำ ผู้ป่วยมักลืมอาบน้ำ ไม่ยอมอาบน้ำ หรือลืมวิธีอาบน้ำ
4. การขับถ่าย ผู้ป่วยไม่รู้ว่าเมื่อไหร่จึงต้องใช้ห้องน้ำ กลั้นอุจจาระไม่ได้ หาห้องน้ำมพบ หรือเข้าไปในห้องน้ำแล้วไม่รู้จะทำอย่างไร
5. การนอน ผู้ป่วยไม่ยอมนอนในตอนกลางคืน เดินไปเดินมา และมักหลับมากในตอนกลางวัน
จะเห็นว่าปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นเหล่านี้ส่งผลกระทบโดยตรงต่อทั้งกับตัวผู้ป่วยและผู้ดูแล ทั้งในด้านสุขภาพกายและสุขภาพ ดังนั้นผู้ป่วยจึงควรได้รับการรักษาอย่างเร่งด่วน นอกจากนี้ยังมีผลกระทบอื่น ๆ ของโรคอัลไซเมอร์ที่มีผลต่อสมองคือ จะเกิดการทำลายเนื้อเยื่อเส้นประสาทในทุกส่วนของสมอง ส่งผลให้เกือบทุกฟังก์ชันของสมองทำงานลดลงอย่างมาก โดยส่วนที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดคือส่วน Hippocampus ซึ่งเป็นหน่วยความจำที่ใช้ในการปฎิบัติงาน (Working Memory) รวมทั้งเป็นส่วนที่สร้างความทรงจำใหม่ ๆ นอกจากนี้ยังส่งผลเสียต่อสมองส่วน Cortex ซึ่งเป็นส่วนที่ควบคุมการคิด การจดจำและการวางแผนอีกด้วย
ความรุนแรง
อัตราความรุนแรงของโรคแตกต่างกันออกไปในแต่ละคน บางคนใช้ชีวิตได้โดยเฉลี่ย 8 ปี ในขณะที่บางคนมีชีวิตได้ถึง 20 ปี ลักษณะของการเกิดโรคที่แตกต่างกันนี้จะส่งผลต่อความรุนแรงของโรค โดยขึ้นอยู่กับภาวะสุขภาพและอายุ
ความแตกต่างระหว่างภาวะสมองเสื่อม กับ โรคอัลไซเมอร์
ภาวะสมองเสื่อมและโรคอัลไซเมอร์ในบางครั้งเป็นคำที่สามารถใช้แทนกันได้ แต่อย่างไรก็ตามทั้งสองอย่างก็มีสิ่งที่แตกต่างกัน อัลไซเมอร์เป็นโรคหนึ่งของภาวะสมองเสื่อม ภาวะสมองเสื่อมเป็นคำที่มีความหมายกว้างขึ้นเกี่ยวกับอาการที่เกี่ยวข้องกับการสูญเสียความทรงจำ เช่น อาการหลงลืม และภาวะสับสน ซึ่งภาวะสมองเสื่อมนั้นรวมไปถึงโรคที่มีความเฉพาะ เช่น โรคอัลไซเมอร์ โรคพาร์กินสัน อาการบาดเจ็บที่สมองและอื่น ๆ ซึ่งอาจทำให้เกิดอาการเหล่านี้ได้ นอกจากนี้การดูแลรักษาอาการในแต่ละโรคยังแตกต่างกันออกไปอีกด้วย (Herndon Jaime and Cherney Kristeen, 2018: ออนไลน์)
คุณสามารถป้องกันโรคอัลไซเมอร์ได้หรือไม่ ?
พฤติกรรมสุขภาพที่ดีจะช่วยให้สมองมีความแข็งแรงและช่วยลดความเสี่ยงต่อการเป็นโรคอัลไซเมอร์ได้ การทำกิจกรรมที่ส่งเสริมการทำงานของสมองบ่อย ๆ จะช่วยลดความเสื่อมของสมองส่วน Hippocampus ซึ่งเป็นส่วนสำคัญเกี่ยวกับทักษะด้านความจำ และเป็นส่วนแรกที่จะได้รับผลกระทบจากโรค แม้ว่าโรคอัลไซเมอร์อาจเกิดจากสาเหตุทางพันธุกรรม แต่การฝึกการออกกำลังสมองสามารถช่วยชะลอการเกิดโรคได้
การฝึกสมองสามารถช่วยปรับปรุงความจำได้
ปัจจัยสำคัญที่ช่วยป้องกันและชะลอการดำเนินของโรคคือ การนอนหลับและพักผ่อนเพียงพอ, อาหารการกิน, การออกกำลังกาย, ชีวิตทางสังคมที่ดีและการออกกำลังสมองด้วยการฝึกทักษะต่าง ๆ สมองก็เปรียบเสมือนกล้ามเนื้อส่วนอื่น ๆ ในร่างกายที่ยิ่งออกกำลังกายมาก ก็จะยิ่งแข็งแรง อย่างไรก็ตามหากปัจจัยดังกล่าวไม่มีประสิทธิภาพ ก็จะทำให้สมองฝ่อและถูกทำลายไปในที่สุด ดังนั้นการฝึกสมองจึงเป็นสิ่งที่มีประโยชน์ต่อสมองของเราอย่างมาก โปรแกรมของ Brain and Life Center มีกิจกรรมและเกมส์ที่เสริมสร้างศักยภาพทุกด้านของสมอง ไม่ใช่แค่เพียงช่วยเพิ่มความแข็งแรงและเสริมสร้างทักษะเท่านั้น แต่ยังช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของทักษะทางการคิดอีกด้วย