ผู้ที่เป็นโรคพาร์กินสัน

ผู้ที่เป็นโรคพาร์กินสัน

Parkinson’s Disease (PD)

โรคพาร์กินสัน (Parkinson’s disease, PD) เป็นโรคความเสื่อมของระบบประสาท (Neurodegenerative Disorders) ที่พบได้บ่อยรองลงมาจากโรคความจำเสื่อมหรือโรคอัลไซเมอร์ โดยชื่อของโรคได้มาจากนายแพทย์เจมส์ พาร์กินสัน ชาวอังกฤษซึ่งพูดถึงโรคนี้เป็นคนแรกไว้ว่า “ผู้ป่วยมีอาการมือสั่น ตัวแข็ง เดินเอนตัวไปข้างหน้า ก้าวซอยเท้าสั้นๆ และสีหน้าไม่มีอารมณ์” (mutualselfcare, มปป.: ออนไลน์) ภายหลังพบว่าเป็นโรคที่เกิดจากความเสื่อมของเซลล์สมอง โดยเฉพาะส่วนที่สร้างโดพามีน (dopamine) ทำให้โดพามีนมีปริมาณน้อยลง จึงส่งผลให้เกิดความผิดปกติของการเคลื่อนไหว (bumrungrad, มปป.: ออนไลน์)

อาการของพาร์กินสัน

อาการหลัก คือ

  • อาการสั่น (Tremor) เป็นอาการสั่นที่นิ้ว มือ แขน หรือขา ขณะอยู่ในท่าพักและไม่ได้เคลื่อนไหวร่างกาย อาการที่มักพบได้บ่อย คือ นิ้วหัวแม่มือกับนิ้วชี้สั่นและถูกันไปมา มือสั่นอย่างควบคุมไม่ได้
  • เคลื่อนไหวช้า (Bradykinesia) เคลื่อนไหวอวัยวะต่าง ๆ ได้ช้ากว่าปกติ จนทำให้เกิดความยากลำบากและใช้เวลานานในการทำกิจกรรมต่าง ๆ ในชีวิตประจำวัน เช่น เดินก้าวสั้น ๆ เดินลากเท้า ลุกออกจากที่นั่งลำบาก
  • กล้ามเนื้อแข็งเกร็ง (Rigidity) กล้ามเนื้อแข็งและเกร็งกว่าปกติ ทำให้เคลื่อนไหวอวัยวะได้อย่างลำบากและได้จำกัด หรืออาจสร้างความเจ็บปวดได้หากเกิดภาวะกล้ามเนื้อบิดเกร็ง (Dystonia)

อาการอื่น ๆ ที่พบในผู้ป่วยพาร์กินสัน ได้แก่

  • ขาดสมดุลการทรงตัว ท่าทางต่างไปจากปกติ อย่างยืนตัวงอ หรือทรงตัวลำบาก
  • ไม่สามารถเคลื่อนไหวอย่างอิสระ ความสามารถในการควบคุมและแสดงท่าทางการเคลื่อนไหวต่าง ๆ ลดลง เช่น ไม่สามารถควบคุมการยิ้ม การกะพริบตา หรือการแกว่งแขนในขณะเดินได้ตามปกติ
  • ปัญหาในการพูด อาจมีอาการ เช่น พูดเบาลง พูดด้วยเสียงราบเรียบ พูดเร็วติดกันจนฟังยาก
  • ปัญหาในการเขียน ควบคุมกล้ามเนื้อมือและแขนไม่ได้ ทำให้เขียนอะไรได้ลำบาก หรือเขียนหนังสือตัวเล็กลง
  • นอนละเมอ ฝันร้ายบ่อยๆ
  • ผู้ที่เป็นมากอาจมีปัญหาการกลืนลำบาก สำลักบ่อย
  • ภาวะซึมเศร้า

ภาวะแทรกซ้อนของพาร์กินสัน

  • กลืนลำบาก อาจมีน้ำลายสะสมอยู่ในปากมาก ทำให้กลืนกินอาหารลำบาก
  • ปัสสาวะลำบาก หรือไม่สามารถควบคุมการปัสสาวะได้
  • ท้องผูก ระบบทางเดินอาหารทำงานได้ช้าลง
  • มีปัญหาเกี่ยวกับการนอน รู้สึกตัวขึ้นมากลางดึกบ่อย ๆ แล้วง่วงนอนทั้งวัน
  • มีปัญหาเกี่ยวกับอารมณ์ความรู้สึก เช่น ภาวะซึมเศร้า อารมณ์แปรปรวนทั้งความกลัว วิตกกังวล หรือรู้สึกขาดแรงจูงใจ
  • ประสาทการรับกลิ่นมีปัญหา
  • อ่อนเพลียง่าย เจ็บปวดตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย
  • มีความต้องการและการแสดงออกทางเพศลดลง
  • ความดันโลหิตเปลี่ยนแปลง อาจทำให้เกิดอาการเวียนหัว หน้ามืดเฉียบพลัน
  • อาจมีปัญหาเกี่ยวกับความคิดและการจำ (Dementia) ในช่วงหลังของการเจ็บป่วย (pobpad, มปป.: ออนไลน์ )

สาเหตุ

ส่วนใหญ่เกี่ยวกับความชราภาพของสมองซึ่ง พบว่า เซลล์สมองส่วนที่สร้างสารโดพามีน (dopamine) ที่มีชื่อว่า เซลล์ประสาทสีดำ  (substantia nigra) ซึ่งอยู่ในส่วนลึกของก้านสมองมีจำนวนลดลง เป็นเหตุให้สมองพร่องสารโดพามีนซึ่งควบคุมการทำงานของร่างกาย  ทำให้ร่างกายเกิดอาการเคลื่อนไหวช้า เกร็ง และสั่น ในปัจจุบันยังไม่ทราบว่าอะไรทำให้เกิดความผิดปกติของเซลล์สมองส่วนดังกล่าว จึงจัดว่าเป็นภาวะที่ยังไม่ทราบสาเหตุแน่ชัด และไม่อาจจะพยากรณ์ได้ว่าใครบ้างที่อาจกลายเป็นโรคนี้ เมื่ออย่างเข้าวัยสูงอายุ

ผู้ป่วยส่วนน้อยอาจพบว่ามีสาเหตุแน่ชัด เช่น พบร่วมกับการใช้ยาทางจิตประสาทฟีโนไทยอาซีน(phenothiazine) หรือฮาโลเพอริดอล (haloperidol) หรืออาจพบร่วมกับการใช้ยาลดความดันโลหิตกลุ่มรีเชอร์พีน  หรือเมทิลโดพา (methyldopa) ซึ่งขัดขวางการทำงานของสารพามีน การใช้สารเสพติดเอมพีทีพี (MPTP ซึ่งเป็นสารอนุพันธ์ฝิ่นชนิดหนึ่งที่เจือปนอยู่ในเฮโรอีนสังเคราห์) ที่มีฤทธิ์ทำลายกลุ่มเซลล์ประสาทสีดำ การถูกสารพิษ (เช่น แมงกานีส ไซยาไนด์ เมทานอล ก๊าชคาร์บอนมอนอกไซด์) ทำให้เซลล์สมองเสื่อม

นอกจากนี้  ยังอาจเกิดจากสาเหตุต่าง ๆ ที่มีผลต่อเซลล์สมอง เช่น ภาวะหลอดเลือดสมองตีบ สมองขาดออกซิเจนในผู้ป่วยจมน้ำ ถูกบีบคอ หรือมีภาวะอุดกั้น ของทางเดินหายใจจากเสมหะหรืออาหาร  ศีรษะได้รับบาดเจ็บหรือกระทบกระเทือน (เช่น การต่อยมวย) สมองอักเสบ เนื้องอกสมอง  เป็นต้น

การรักษา

  • การรักษาด้วยยา เป็นการรักษาแบบประคับประคองตามอาการ เป็นยาที่ทดแทนหรือปรับสมดุลย์ของสารโดปามีนในสมอง แต่ไม่สามารถทำให้เซลล์สมองที่เสื่อมฟื้นตัวมาได้ ต้องมาพบแพทย์สม่ำเสมอ เพื่อปรับยาให้สอดคล้องกับอาการและกิจวัตรประจำวัน
  • การทำกายภาพบำบัด และการออกกำลังกาย เป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง เพื่อฟื้นฟูสมรรถภาพของร่างกาย เช่น การฝึกเดิน การฝึกพูด การฝึกกลืน วิ่ง ปั่นจักรยาน
  • การผ่าตัด เมื่อการรักษาด้วยยาไปนานๆ อาจเกิดการดื้อยา หากแพทย์ปรับการให้ยาแล้วทำให้อาการดีขึ้น ก็จะรักษาด้วยยาต่อไป แต่หากรักษาด้วยยาแล้วอาการไม่ดีขึ้น จะพิจารณาการผ่าตัด ด้วยการฝังเครื่องกระตุ้นไฟฟ้าในสมองส่วนลึก (Deep Brain Stimulation, DBS) (phyathai, 2017: ออนไลน์)
  • รักษาด้วยวิธีฝัง electrode เพื่อกระตุ้นสมองส่วนลึก (deep brain stimulation) ร่วมด้วย เพื่อลดปริมาณยาที่ใช้เเละลดผลข้างเคียงจากการใช้ยาลงได้
  • รักษาด้วย botulinum toxin injection เป็นการรักษาโรคหน้ากระตุก (Hemifacial spasm) โรคคอบิดเกร็ง (cervical dystonia) กล้ามเนื้อเกร็งจากโรคอัมพฤกษ์อัมพาต (muscle spasticity) เพื่อลดการเกร็ง การกระตุก เเละความปวดจากการเกร็งของกล้ามเนื้อลงได้ (Bangkok hospital, มปป.: ออนไลน์)

การพยาบาล

  • ฝึกให้ผู้ป่วยสามารถช่วยเหลือตนเองได้และสื่อสารได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยฝึกการพูด (Speech therapy)
  • ป้องกันภาวะขาดสารอาหารโดยให้นอนศีรษะสูงขณะรับประทานอาหารหรือน้ำดื่ม
  • ดูแลให้รับประทานยาตามแผนการรักษา เช่น Levodopa อย่างน้อย 30 นาทีก่อนอาหาร
  • ดูแลผู้ป่วยที่กลั้นปัสสาวะไม่ได้ โดยให้ผู้ป่วยดื่มน้ำหลัง 6 โมงเย็นให้น้อยลง เพื่อลดการถ่ายปัสสาวะในเวลากลางคืนหรือใส่สายสวนปัสสาวะ และฝึกการกลั้นปัสสาวะด้วยวิธี Bladder training
  • ป้องกันท้องผูกโดยกระตุ้นให้ดื่มน้ำอย่างน้อย 6-8 แก้ว/วัน ให้ผู้ป่วยดื่มน้ำส้ม น้ำลูกพรุน เพื่อช่วยในการขับถ่าย (honestdocs, 2020: ออนไลน์)
  • ให้ความรู้แก่ผู้ป่วยและผู้ดูแลผู้ป่วยเกี่ยวกับเรื่องโรค ป้องกันและลดภาวะเครียดให้แก่ผู้ป่วย

การลดความเสี่ยงจากโรคพาร์กินสัน

แม้ว่าโรคพาร์กินสัน จะเป็นโรคที่มีความรุนแรง แต่ก็สามารถป้องกันได้ ด้วยการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ โดยพบว่า การออกกำลังกายตั้งแต่อายุ 35 ปี ขึ้นไป อย่างสม่ำเสมอ จะช่วยลดความเสี่ยงการเกิดโรคพาร์กินสัน ได้ เนื่องจาก การออกกำลังกายจะทำมีสาร Brain-Deried Neurotrophic Factor ( BDNF ) ตรงสมองส่วนฮิปโปแคมปัสปริมาณสูง ซึ่งสารนี้มีผลทำให้รักษาเซลล์สมองและช่วยให้เส้นประสาทใหม่เติบโต คนที่ออกกำลังกายสม่ำเสมอ จึงทำให้สามารถเรียนรู้ได้ดี และมีความจำที่ดี

โปรแกรมฝึกสมองสำหรับผู้ที่เป็นโรคพาร์กินสัน

โรคพาร์กินสัน (Parkinson’s Disease (PD)) เป็นโรคทางสมอง (Neurologic Disease) ซึ่งเป็นหนึ่งในภาวะสมองเสื่อม (Dementia) เกิดจากเซลล์ประสาทในบางตำแหน่งเกิดความผิดปกติ ทำให้สารสื่อประสาทในสมองที่ชื่อว่า โดปามีน (Dopamine) มีปริมาณลดลง ส่งผลให้ผู้ป่วยมีอาการที่สำคัญ คือ อาการสั่น, เคลื่อนไหวร่างกายช้าลง, ร่างกายมีสภาพแข็งเกร็ง, การทรงตัวไม่ค่อยดี โรคนี้มักเกิดกับผู้สูงอายุและผู้ที่อายุมากกว่า 50 ปี อาการเริ่มแรกจะค่อยๆเกิดทีละน้อย และจะเด่นชัดขึ้นเรื่อยๆเมื่อเวลาผ่านไป ผู้ป่วยจะไม่สามารถทำกิจกรรมในชีวิตประจำวันได้ปกติ เช่น เดินเองไม่ค่อยได้, ทำงานหรือกิจกรรมต่างๆได้ยาก,พูดลำบาก  มีปัญหาในเรื่องของภาษาและการสื่อสาร หลงลืมหรือภาวะสมองเสื่อม (Memory Loss) ทำให้เป็นปัญหาต่อการดำเนินชีวิต โปรแกรมฝึกสมองของ Brain and life Center สามารถช่วยลดอาการต่างๆเหล่านี้ได้ ด้วยการเสริมสร้างทักษะให้แข็งแรงขึ้น ซึ่งจะทำให้การดำเนินชีวิตของผู้ป่วยเป็นไปในทางที่ดีขึ้น

This will close in 0 seconds